7 ข้อสรุปเรื่องความเร็วเน็ตไทยจาก “Speed Test” ปี 2552

หลังจากสมาคมผู้ดูแลเว็บไทย ร่วมมือกับสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม หรือ สบท. จัดทำโครงการ “สำรวจและทดสอบคุณภาพความเร็วอินเทอร์เน็ต ปี 2552” ขึ้นเพื่อศึกษาและทดสอบความเร็วที่ให้บริการอินเทอร์เน็ตในประเทศไทย ผ่านเว็บไซต์ www.speedtest.or.th และเว็บไซต์ที่เข้าร่วมโครงการอื่นๆตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2552 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน
       
       ต่อไปนี้คือ 7 ข้อมูลการทดสอบตั้งแต่วันแรกจนถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2552 รวม 99 วัน ที่สมาคมผู้ดูแลเว็บไทยลงมือวิเคราะห์ประมวลผล

       
       1. จำนวนทดสอบ SpeedTest ทั้งหมด 1,287,613 ครั้ง เฉลี่ยวันละ 13,006 ครั้ง เป็นผู้ใช้บริการจาก TOT (34%) TRUE (25%) 3BB/MAXNET (17%) อื่นๆ (4%) และ ไม่ระบุผู้ให้บริการ (20%) โดยเข้าทดสอบผ่านเว็บไซต์ speedtest.kapook.com มากที่สุด (53%) ผ่านเว็บไซต์หลัก www.speedtest.or.th (25%) เว็บไซต์ speedtest.pantip.com (13%) และ เว็บไซต์อื่นๆ (9%)
       
       2. ช่วงเวลาทดสอบความเร็วอินเทอร์เน็ตในแต่ละวัน พบว่า ผู้ใช้นิยมเข้ามาทดสอบตั้งแต่ 7.00 น. และเพิ่มขึ้นจนถึง 22.00 น. โดยร้อยละ 99 เป็นผู้ใช้ระบบปฏิบัติการวินโดวส์ ใช้ Internet Explorer เป็นเว็บเบราเซอร์ (80%) และ รองลงมาคือ Firefox (17%) ส่วนใหญ่ทำการทดสอบมาจากภายในประเทศ (98%) และนิยมทดสอบซ้ำเพียง 1-2 ครั้ง เท่านั้น
       
       3. จังหวัดที่นิยมทดสอบความเร็วอินเทอร์เน็ตมากที่สุดเรียงตามลำดับ ได้แก่ กรุงเทพฯ ชลบุรี นนทบุรี เชียงใหม่ ปทุมธานี สมุทรปราการ นครราชสีมา สงขลา ขอนแก่น ระยอง นครปฐม ซึ่งก็คือกรุงเทพฯ และ จังหวัดรอบๆ รวมไปถึงจังหวัดใหญ่ที่เป็นศูนย์กลางของภาค
       
       4. ผลการจัดอันดับด้านความเร็วในการดาวน์โหลดโดยรวม เรียงตามลำดับคือ TRUE (83%) SAMART (78%) ISSP (75%) 3BB/MAXNET (71%) CSLOXINFO (71%) TOT (66%) INET (63%) BEENET (62%) CAT (43%) DTAC (34%)
       
       หากเปรียบเทียบเฉพาะผู้ให้บริการรายใหญ่ เรียงตามลำดับ ได้แก่ TRUE (83%) 3BB/MAXNET (71%) TOT (66%) CAT (43%)
       
       หากเปรียบเทียบเฉพาะผู้ให้บริการรายเล็ก เรียงตามลำดับ ได้แก่ SAMART (78%) ISSP (75%) CSLOXINFO (71%) INET (63%)
       
       5. สำหรับความเร็วในการอัปโหลด แยกตามผู้ให้บริการ เรียงตามลำดับคือ ISSP (75%) SAMART (65%) BEENET (51%) INET (50%) CAT (24%) CSLOXINFO (20%) TOT (14%) TRUE (14%) 3BB/MAXNET (10%)
       
       หากเปรียบเทียบเฉพาะผู้ให้บริการรายใหญ่ด้วยกัน เรียงตามลำดับ ได้แก่ CAT (24%) TOT (14%) TRUE (14%) 3BB/MAXNET (10%)
       
       หากเปรียบเทียบเฉพาะผู้ให้บริการรายเล็กด้วยกัน เรียงตามลำดับ ได้แก่ ISSP (75%) SAMART (65%) BEENET (51%) INET (50%)
       
       ***การทดสอบในอนาคต อาจแยกผู้ให้บริการออกเป็น 3 กลุ่ม คือ ผู้ให้บริการรายใหญ่ รายเล็ก และผู้ให้บริการ Mobile เนื่องจากผู้ให้บริการ Mobile นอกจากให้บริการอินเทอร์เน็ต ยังใช้โครงข่ายเพื่อให้บริการโทรศัพท์มือถือด้วย ทั้งนี้เพื่อให้สามารถเปรียบเทียบคุณภาพบริการได้อย่างชัดเจนและเป็นธรรมมากยิ่งขึ้น
       
       6. ในภาพรวม จะเห็นว่าความเร็วในการดาวน์โหลด อยู่ที่ 34-83% และ ความเร็วในการอัปโหลดอยู่ที่ 10-75% ซึ่งความเร็วอัปโหลดต่ำกว่าดาวน์โหลดค่อนข้างมากโดยเฉพาะในผู้ให้บริการรายใหญ่ และคุณภาพความเร็วอินเทอร์เน็ตในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และ จังหวัดใหญ่ที่เป็นศูนย์กลางธุรกิจความเจริญในแต่ละภาคจะดีกว่าจังหวัดเล็กๆ และจังหวัดที่ห่างไกลออกไป แต่ก็ไม่มากนัก
       
       7. เป็นที่น่าสังเกตว่า ผู้ให้บริการรายเล็กมีความเร็วในการอัปโหลดสูงกว่าผู้ให้บริการรายใหญ่ ซึ่งน่าจะเป็นจุดขาย เพราะผู้ใช้ในยุคนี้ เน้นการอัปโหลดมากกว่าสมัยก่อน คือนิยมการแชร์วิดีโอ แชร์รูปภาพ แชร์ไฟล์ ต่างๆ มากขึ้น
       
       อย่างไรก็ตาม คุณภาพความเร็วอินเทอร์เน็ตที่วัดได้นี้อาจมีความคลาดเคลื่อน เนื่องจากคำนวณจากสัดส่วนของความเร็วที่วัดได้จริงต่อความเร็วที่ผู้ทดสอบแจ้ง ซึ่งหากผู้ทดสอบไม่ได้แจ้งความเร็ว หรือแจ้งขนาดความเร็วที่ไม่ตรงกับบริการที่ตนใช้อยู่ ก็จะทำให้คุณภาพความเร็วที่คำนวณได้คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง จำนวนผู้เข้ามาทดสอบ ทดสอบขณะกำลังดาวน์โหลดข้อมูลขนาดใหญ่ด้วย Bit Torrent ทดสอบในช่วงเวลาที่มีผู้ใช้งานจำนวนมาก ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ ล้วนมีผลต่อความเร็วอินเทอร์เน็ตที่วัดได้ ทั้งสิ้น การทดสอบความเร็วอินเทอร์เน็ต จึงควรกระทำในสภาวการณ์ที่เหมาะสม เพื่อลดปัจจัยที่อาจจะส่งผลให้ความเร็วที่วัดได้ไม่ตรงตามความเป็นจริง
       
       ไม่ 100% เป็นเรื่องปกติ
       
       ดร. วิริยะ อุปัติศฤงค์ หนึ่งในผู้บริหารของบริษัท ทรู อินเทอร์เน็ต กล่าวกับโครงการ Speed Test ว่า ในทางเทคนิคแล้ว ไม่มีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตใดๆ ที่ให้ประสิทธิภาพ 100% เนื่องจากเครือข่ายอินเทอร์เน็ตมักจะมีการสูญหายของแพ็กเกจ (Package) ระหว่างทาง และจำเป็นต้องมีการส่งแพ็กเกจนั้นๆ ใหม่ ระยะทางระหว่างบ้านผู้ใช้กับผู้ให้บริการ คุณภาพของสายเชื่อมต่อ สภาพอากาศซึ่งมีผลต่อการรับ-ส่งสัญญาณ และการที่ระบบถูกออกแบบมาให้แชร์การเชื่อมต่อเพื่อใช้งานร่วมกันระหว่างผู้ใช้หลายๆ คน ADSL (Asymmetric Digital Subscriber Lineเ) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีแบบไม่สมมาตร (Asymmetric) คือ ผู้ให้บริการจะเปิดความกว้างของช่องสัญญาณหรือแบนวิดธ์ (Bandwidth) จากผู้ให้บริการไปยังผู้ใช้บริการสูงกว่า สิ่งเหล่านี้ล้วนมีผลต่อความเร็วอินเทอร์เน็ต ซึ่งประชาชนควรมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องเหล่านี้ด้วย
       
       ดร. วิริยะ กล่าวเสริมว่า ในส่วนของ ทรู มีฐานลูกค้าหลักอยู่ในกรุงเทพฯ และ ปริมณฑล ในขณะนี้ได้ขยายโครงข่ายบริการไปยังจังหวัดสำคัญๆ ในแต่ละภาค ได้แก่ เชียงใหม่ ขอนแก่น นครราชสีมา และเมืองใหญ่ๆ อย่างพัทยา หาดใหญ่ หาดป่าตอง จ.ภูเก็ต ซึ่ง ทรู ต้องลงทุนสูงมากในการขยายเครือข่ายไปยังต่างจังหวัด หากภาครัฐเข้ามาร่วมลงทุนกับผู้ประกอบการ เพื่อให้การขยายโครงสร้างพื้นฐานด้านสารสนเทศและเครือข่ายครอบคลุมทั่วประเทศในลักษณะ Universal Access Service ก็น่าจะเป็นผลดีต่อการเข้าถึงเทคโนโลยีสารสนเทศของคนต่างจังหวัดให้ทั่วถึงและเท่าเทียมกับคนกรุงเทพฯ สามารถเป็นไปได้ง่ายขึ้น
       
       ในส่วนของ 3BB/MAXNET ซึ่งเป็นผู้ให้บริการรายใหญ่อีกรายหนึ่ง ที่มีโครงข่ายครอบคลุม 90% ทั่วประเทศ ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมกับโครงการ SpeedTest ว่า ตนและผู้ให้บริการอีกหลายราย มีบริการบรอดแบนด์ในลักษณะที่การันตีความเร็วของการเชื่อมต่อด้วย หากลูกค้าต้องการก็สามารถติดต่อเจาะจงบริการแบบดังกล่าวได้ ซึ่งก็จะมีค่าใช้จ่ายสูงกว่า ADSL ปกติ ส่วนปัญหาการทดสอบความเร็วไม่ตรงกับบริการที่ซื้อไว้ ทางบริษัท ได้จัดเจ้าหน้าที่บริการช่วยแก้ไขปัญหาและตอบคำถาม ทาง Call Center และ ทางเว็บบอร์ด ด้วย ซึ่งก็ช่วยแก้ไขปัญหาหลายอย่าง โดยเฉพาะปัญหาที่เกิดขึ้นในฝั่งลูกค้า เป็นต้นว่า คุณภาพของสายสัญญาณและอุปกรณ์ภายในบ้าน การทดสอบความเร็วในขณะที่กำลังใช้งานเครื่องอย่างหนัก หรือแม้แต่การที่เครื่องติดไวรัสคอมพิวเตอร์ ก็ทำให้ทำงานช้าลง ซึ่งไม่เกี่ยวกับคุณภาพบริการอินเทอร์เน็ตของผู้ประกอบการ อย่างที่ลูกค้าเข้าใจ
       
       สมาคมผู้ดูแลเว็บไทย ซึ่งเป็นหน่วยงานกลางระหว่างผู้ใช้และผู้ให้บริการ ได้เสนอแนะแนวทางในการจัดการกับปัญหาคุณภาพความเร็วอินเทอร์เน็ต ดังนี้
       
       1.ให้ความรู้กับผู้ใช้ เรื่องข้อจำกัดทางเทคนิคที่มีผลทำให้ความเร็วอินเทอร์เน็ตลดลง รวมถึงวิธีการวัดความเร็วอินเทอร์เน็ตเพื่อให้ได้ผลใกล้เคียงความเป็นจริงมากที่สุด
       
       2.ให้ความรู้กับผู้ใช้ เพื่อให้รู้เท่าทันโฆษณาที่อาจเกินจริง
       
       3.ผู้บริการควรปรับปรุงคุณภาพความเร็วอินเทอร์เน็ต โดยเฉพาะ คุณภาพการอัปโหลดให้สูงขึ้น เพื่อให้เหมาะสมกับการใช้งานในยุคปัจจุบัน ที่ผู้ใช้ต้องการแชร์ภาพแชร์วิดีโอและเป็นผู้ส่งข้อมูลมากกว่าสมัยก่อนที่เน้นเพียงการดูเว็บ อ่านอีเมล
       
       4.ด้วยเทคโนโลยีและโครงสร้างพื้นฐานในปัจจุบัน คาดหวังให้ผู้ให้บริการปรับปรุงคุณภาพความเร็วในการดาวน์โหลด ให้ได้ไม่น้อยกว่า 80% และ อัปโหลด ให้ได้ไม่น้อยกว่า 50%
       
       5.ในการปรับปรุงคุณภาพความเร็วอินเทอร์เน็ต หน่วยงานภาครัฐที่มีอำนาจในการกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรผลักดันให้เกิดการลงทุน ส่งเสริม สนับสนุน การวางโครงสร้างพื้นฐานด้านการสื่อสารโทรคมนาคมให้ทั่วถึง เท่าเทียม ผู้ใช้สามารถเข้าถึงได้ในราคาและคุณภาพเดียวกัน ทั่วประเทศ
       
       6.ผลักดันให้เกิด Code of Practice เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติให้กับผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ในการให้ข้อมูลเกี่ยวกับความเร็วสูงสุดที่ผู้บริโภคจะคาดหวังได้
       
       “ผู้ให้บริการควรตกลงที่จะให้ข้อมูลความเร็วสูงสุดที่คาดว่าผู้บริโภคจะได้รับ ควรอธิบายอย่างชัดเจนถึงข้อจำกัดทางเทคนิคที่มีผลทำให้ความเร็วที่ได้ลดลง (เช่น ระยะทางระหว่างชุมสายถึงที่พักของผู้ใช้) และให้ความช่วยเหลือหรือให้คำแนะนำในกรณีที่ผู้ใช้จะสามารถทำได้เพื่อให้ได้ความเร็วที่ดีขึ้น ควรเสนอแพ็กเกจอื่น (ถ้ามี) โดยไม่มีค่าปรับในการเปลี่ยนแพ็กเกจ ในกรณีที่ความเร็วจริงที่ได้ต่ำกว่าความเร็วที่คาดว่าจะได้จากแพ็กเกจเดิมมาก”
       
       โครงการสำรวจและทดสอบคุณภาพความเร็วอินเทอร์เน็ต SpeedTest ของสมาคมผู้ดูแลเว็บไทย ในวันนี้ จึงไม่ใช่คำตอบสุดท้าย ของทางออกของปัญหาคุณภาพบริการอินเทอร์เน็ตในเมืองไทย แต่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของความร่วมมือระหว่างผู้ใช้งานและผู้ประกอบการ ที่จะช่วยกันดูแล รับรู้ปัญหา และหาทางออกร่วมกันทั้งในระดับนโยบายและปฏิบัติ ในปีหน้า สมาคมผู้ดูแลเว็บไทย ยังจะร่วมมือกับ สบท. ดำเนินโครงการสำรวจและทดสอบความเร็วอินเทอร์เน็ต ต่อไป โดยจะมีการเพิ่มจำนวน Server ไปติดตั้งไว้ที่ผู้ให้บริการให้ครบทุกแห่ง ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจวัดที่แม่นยำยิ่งขึ้น เป็นเครื่องมือที่สำคัญที่จะช่วยในการพัฒนาคุณภาพความเร็วอินเทอร์เน็ตของคนไทย ต่อไป

ที่มา : http://www.manager.co.th/Telecom/ViewNews.aspx?NewsID=9520000151822

2 Replies to “7 ข้อสรุปเรื่องความเร็วเน็ตไทยจาก “Speed Test” ปี 2552”

  1. Pingback: doogdigg.com